fbpx
FOOD IS LIFE

 อิ่มความสุขในครัวปกาเกอะญอ

เรื่อง จันทน์สุภา ชมกุล /ภาพ ชลิต สภาภักดิ์ , จันทน์สุภา ชมกุล

หลายปีมาแล้วฉันมีโอกาสเดินทางสำรวจเส้นทางกาแฟป่าในเขตขุนลาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จำได้ว่าทริปนั้นเราอาศัยอยู่กับชาวบ้านตลอดทั้งทริป หมู่บ้านแรกที่ไปพักคือหมู่บ้านปกาเกอะญอ บ้านห้วยมะเกลี้ยงปางไคร้ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลตั้งอยู่บนเขาขุนลาวสูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า ๘๐๐ เมตร 

เดือนพฤศจิกายนที่บ้านห้วยมะเกลี้ยงอากาศหนาวจับใจ พอตกเย็นเราจึงมารวมตัวกันในครัวเพื่อหาไออุ่น จิบชา และกินข้าวปุกงาแก้หนาว นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้สัมผัสกับความอบอุ่นของครัวปกาเกอะญอหรือ “ผ่าควะถิ”  ซึ่งต่อมาฉันได้เรียนรู้และซึมซับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของพวกเขาผ่านบทสนทนารอบเตาไฟนี้ กลิ่นอายของเถ้าและเขม่าไฟที่ปกคลุมทุกอย่างให้กลายเป็นสีดำจับแน่นอยู่ในความทรงจำ ชวนให้นึกอยากกลับไปตามหาความสุขและความอิ่มเอมจากครัวไฟนั้นอยู่เสมอ

ผ่าควะถิ ครัวเตาไฟของคนปกาเกอะญอ

จนกระทั่งปลายฤดูร้อนของปีนี้ฉันมีโอกาสได้ขึ้นไปหมู่บ้านปกาเกอะญอที่อำเภอเวียงป่าเป้า หนนี้ได้ไปทำงานที่บ้านห้วยหินลาดในซึ่งเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญออีกแห่งที่มีโอกาสมาเยือนเมื่อหลายปีที่แล้ว บ้านห้วยหินลาดในขึ้นชื่อเรื่องน้ำผึ้งป่า ใบชา และอาหารอันหลากหลายจากไร่หมุนเวียน มารอบนี้จึงมีความตั้งใจนำเสนอเรื่องราวทุกอย่างที่ว่ามา รวมถึงเรื่องอาหารปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่มีเส่นห์ของวัตถุดิบจากป่าและพื้นที่รอบๆ ป่า น่าสนใจให้ศึกษาทั้งระบบนิเวศอาหารและวัฒนาธรรมการกิน โชคดีที่เราได้ที่ปรึกษาเป็นปราชญ์ปกาเกอะญอที่มีความสามารถรอบด้าน คือพ่อนิเวศน์ ศิริ และลูกชายของท่านประสิทธิ์ ศิริ และได้ครัวของบ้านพ่อนิเวศน์เป็นศูนย์บัญชาการ เราจึงได้รับทั้งความรู้และอาหาร ซึ่งให้ทั้งความอบอุ่นอุ่นและอิ่มท้องไปพร้อมๆ กัน ฟังพ่อนิเวศน์และประสิทธิ์เล่าเรื่องราวอาหาร ป่า และชีวิตอย่างเพลิดเพลินทำให้นึกอิจฉาคนที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้

อาหาร ป่า และชีวิต

ประสิทธิ์ ศิริ

เสียงไก่ขันดังขึ้นตั้งแต่ตีสี่กว่าๆ ราวกับจะบอกว่า “นี่เช้าแล้วนะ” ขัดแย้งกับความมืดด้านนอกที่ชวนให้อยากนอนต่อ แต่นอนไม่ได้แล้ว เพราะกลิ่นควันไฟในครัวเริ่มโชยกลิ่น เสียงหยิบโน่นจับนี้และเสียงหม้อโลหะกระทบกันทำให้รู้ได้ว่ากิจกรรมยามเช้าได้เริ่มขึ้นแล้ว ชีวิตของคนบนเขาเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ เพราะพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้าตั้งแต่ตีห้ากว่าๆ ถ้าตื่นสาย กินข้าวสาย แดดสายที่มาเร็วตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจะทำให้การทำงานในไร่ไม่สนุกและน่าเหนื่อยมาก ดังนั้นชีวิตจึงเริ่มต้นเร็วในตอนเช้า และจบลงก่อนย่ำค่ำ

ฉันนอนรอจนฟ้าสางดูเวลา เวลาก็เพิ่งจะตีห้ากว่าๆ เท่านั้นเอง จึงลุกขึ้นมาดูแม่หล้าทำอาหารเช้า วันนี้ฉันนัดแม่หล้าไว้ว่าจะเก็บชาด้วยกัน เพราะอยากได้ยอดชามาทำอาหาร ประสิทธิ์บอกว่ามาบ้านห้วยหินลาดในช่วงนี้ (ปลายฤดูแล้ง) ก็ต้องได้กินยำใบชา ฉันจึงขอตามแม่หล้าไปเรียนรู้เรื่องชาและเก็บชามาทำอาหารด้วย แม่หล้าบอกว่าเก็บชาต้องไปตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า “แดดจะไม่ร้อน” ฉันเห็นด้วย เพราะพอเข้าแปดโมงแดดก็เริ่มแข็งและร้อนราวกับสิบโมงเช้า

แม่หล้า ศิริ

ยำใบชา เป็นอาหารที่คนปกาเกอะญอนิยมทำในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเก็บชาครั้งแรกหรือเวลามีแขกมาเยือนในช่วงเวลานั้น หนึ่งก็เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มรสรสชาติของผืนป่าผ่านยอดใบชาอัสสัมซึ่งให้รสชาติป่าได้ดีที่สุด ความสดชื่น ฝาด หอม เปรียบเสมือนคำทักทายของป่าที่เราจะสัมผัสได้จากอาหารจานนี้ สอง ยำใบชามีความสดชื่น รสชาติกลมกล่อมกระตุ้นต่อมรับรสและความอยากอาหารได้ดี การเริ่มต้นด้วยยำใบชาจะช่วยปรับลิ้นของผู้มาใหม่ให้คุ้นชิ้น ก่อนที่จะได้ลิ้มรสอาหารท้องถิ่นที่แตกต่างไปจากอาหารในเมืองอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ใบชายังมีสารอาหารที่มีประโยชน์อีกหลายชนิด โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระและกรดอะมิโนกว่า ๒๐ ชนิดในใบชา ยำใบชาจึงเป็นอาหารจานพิเศษของช่วงฤดูเก็บชาที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์

ประสิทธิ์บอกว่าอาหารของพวกเขาหมุนเวียนไปตามฤดูกาล ธรรมชาติจะบอกเองว่าควรกินอะไร ทำให้ไม่ต้องมาคิดว่า “วันนี้ทำอะไรกินดี” เหมือนที่คนเมืองหลายๆ คนประสบปัญหา สุดท้ายจึงฝากท้องไว้กับร้านอาหารเพราะร้านอาหารคิดรายการไว้ให้แล้วเสร็จสรรพ เลือกกินไปตามใจอยากหรือตามรายการอาหารที่มี ต่างจากชาวปกาเกอะญอที่ธรรมชาติจะเป็นคนกำหนดอาหารการกินแต่ละมื้อ เพราะอาหารทั้งหมดของพวกเขาล้วนอยู่ในป่า ในไร่หมุนเวียน ในป่าวนเกษตร สามพื้นที่สำคัญที่สร้างอาหารให้ตลอดทั้งปี ช่วงทำไร่หมุนเวียนก็ได้อาหารมาจากไร่ หมดฤดูทำไร่ก็หาดูพืชผักในป่าและวนเกษตร ตื่นเช้ามาเจออะไรวันนั้นก็ได้กินสิ่งนั้น

อาหารจากไร่หมุนเวียนที่เก็บไว้กินนอกฤดูกาล

อาหารจากป่าวนเกษตรริมบ่อ

พ่อนิเวศน์บอกว่า “ไร่หมุนเวียนเป็นอาหารของครอบครัว มีกันทุกครอบครัว ปีไหนที่ใครปลูกอะไรไม่ได้ แต่ละครัวเรือนก็จะมาแบ่งปันกัน แลกเปลี่ยนกันกิน ส่วนป่าเป็นของส่วนรวมที่เราต้องช่วยกันดูแลรักษา ช่วยกันป้องกัน เมื่อเราใช้ประโยชน์จากป่าแล้ว เราก็ต้องดูแลป่า” เพราะเมื่อเรากินอย่างรู้คุณค่า กินอย่างพอดี เราก็จะมีกินต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต การกินไปตามครรลองของธรรมชาติจึงเป็นวิถีแห่งชีวิตที่แท้จริง เหมือนอย่างช่วงนี้ชาวบ้านกำลังเก็บชาแรกของปีที่เรียกว่า “ชาหัวปี” ชาวบ้านก็ต้องได้กินยำใบชา เพราะว่าธรรมชาติมอบให้มาอย่างนั้น

ยำใบชาหมูย่างมะแขว่น

ยำใบชาเป็นอาหารง่ายๆ ถ้ายำแบบปกาเกอะญอยิ่งง่ายมาก เพราะคนที่นี่กินอาหารรสไม่จัดจ้าน การยำจึงทำง่ายด้วยเครื่องปรุงที่มีคือ มะนาว น้ำปลา น้ำตาล (ถ้ามี จริงๆแล้ว คนปกาเกอะญอแทบไม่กินน้ำตาลเลย) และพริกขี้หนู สามารถนำมายำกับปลากระป๋องก็ให้รสชาติที่ดีแล้ว เพียงแค่บีบมะนาว โรยพริกขี้หนูซอย เหยาะน้ำปลา และหั่นใบชาใส่ลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอันจบ

แต่ยำใบชาที่เราอยากทำวันนี้คือ ยำใบชาหมูย่างมะแขว่น เรื่องก็จะมากขึ้นหน่อย หนึ่ง เรามีหมูติดมาจากในเมืองเพราะมีเสียงอยากกินหมูย่าง สอง เรามีเครื่องปรุงรสจากเมืองมาเอง ทั้งน้ำปลาดี น้ำตาลแท้ กระเทียมดองโฮมเมด (ดองเอง) เราจึงยำใบชาแบบรสชาติภาคกลางได้อย่างง่ายๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรายำกับหมูย่างมะแขว่น เพราะจะไม่พลาดมะแขว่นของบ้านห้วยหินลาดในอย่างแน่นอน ด้วยว่ามะแข่วนของที่นี่นั้นสุดยอดมาก กลิ่นหอมและรสชาติดี มีความเผ็ด ซ่า และเปรี้ยวเล็กน้อย ประสิทธิ์บอกว่ามะแขว่นที่นี่เป็นมะแขว่นป่าจึงยืนหนึ่งเรื่องกลิ่นหอมอโรมาและรสชาติที่ซับซ้อน เมื่อนำมาย่างและโขลกกับเกลือแล้วนำมาหมักหมูจะทำให้เนื้อหมูหอมและมีรสชาติดี

ส่วนประกอบ

ใบชาสด ๑ ถ้วยตวง

เนื้อคันคอหมูสไลด์ ๑๐๐ กรัม

ดอกเกลือ

มะแขว่นคั่วให้หอมและกรอบ

มะเขือเทศไร่ ๖-๗ ลูก

กระเทียมดอง ๓ หัว

ใบสะระเหน่

น้ำปลา 

น้ำผึ้งบ้านหินลาดใน

น้ำตาลมะพร้าวแท้เล็กน้อย

มะนาว

พริกขี้หนูซอย

วิธีทำ

  1. เตรียมหมักเนื้อหมู เริ่มจากนำเกลือมาโขลกกับมะแขว่นที่คั่วจนหอมแล้วให้ละเอียด จากนั้นนำมาหมักกับเนื้อหมูพักไว้
  2. ระหว่างรอเนื้อหมูหมักให้เข้าที่ ให้เตรียมเครื่องประกอบของยำให้พร้อม เริ่มจากซอยกระเทียมดองเป็นชิ้นเล็กๆ และเตรียมน้ำยำให้พร้อมโดยการนำน้ำปลา น้ำผึ้ง ดอกเกลือเล็กน้อย น้ำตาลมะพร้าว และน้ำมะนาว ผสมรวมกันแล้วชิมรสให้ได้สามรส เปรี้ยว เค็ม หวาน อย่างสมดุล พักไว้ 
  3. นำหมูที่หมักไปย่างจนสุก ข้อพึงระวังคือไม่ควรย่างหมูให้สุกมากเกินไป เพราะจำให้เนื้อหมูแห้ง ขาดความชุ่มฉ่ำ และเนื้อหมูแข็งกระด้าง จากนั้นหั่นเนื้อหมูเป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำ
  4. เนื้อหมูย่างที่หั่นไว้แล้วนำมาผสมกับน้ำยำ ใส่กระเทียมดอง และมะเขือเทศผ่าครึ่งลงไปคลุกเคล้า ชิมดูให้น้ำยำคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดจนได้รสชาติที่พอดี นำใบชามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือจะหั่นเป็นเส้นฝอยก็จะให้รสชาติที่ดี กินง่าย ไม่ฝาดจนเกินไป คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดอีกครั้ง ตักใส่จานเสิร์ฟได้ทันที 
  5. ยำใบชาสามารถกินแนมกับผักพื้นบ้านได้อร่อย เช่น ผักแพว สะระแหน่ ใบหอมชู ผักรากกล้วย

อาหารอีกชนิดหนึ่งที่ต้องห้ามพลาดสำหรับทริปนี้คือ “บะเก่อเออ” หรือผักกาดแห้ง ผลผลิตจากไร่หมุนเวียนที่มีเอกลักษณ์อย่างมาก ถามประสิทธิ์ว่า “ปีนี้มีบะเก่อเออไหม” ประสิทธิ์บอกว่า “มีครับ แม่ทำเก็บไว้เยอะเลย” ว่าแล้วก็ลุกไปหยิบบะเก่อเอออกมาให้ดูสองถุงใหญ่ เป็นบะเก่อเออจากผักกาดต้นเล็ก และบะเก่อเออจากผักกาดต้นใหญ่ ซึ่งให้รสชาติแตกต่างกัน ยอมรับว่าบะเก่อเออเป็นหนึ่งในวัตถุดิบของไร่หมุนเวียนที่ฉันชอบมากๆ เนื่องจากอาหารที่มีรสชาติอันแสนพิเศษ  ใครจะคิดว่าผักกาดเขียวที่มีรสชาติขมขื่นเมื่อนำมาทำให้แห้งแบบนี้แล้วจะได้วัตถุดิบที่ยอดเยี่ยม และนำมาทำเป็นอาหารต่างๆ ได้หลากหลายเมนู ทั้งน้ำพริก ต้ม แกง หรือใส่ในข้าวต้มของปกาเกอะญอ (ข้าวเบ๊อะ)

ฉันรู้จักบะเก่อเออครั้งแรกตอนไปหมู่บ้านปกาเกอะญอที่บ้านแม่ลายเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เห็นแม่เฒ่านำบะเก่อเออมาทำน้ำพริก (แต่ไม่ได้กิน) และได้กินบะเก่อเออในแกงที่ชาวบ้านทำไว้เลี้ยงต้อนรับในอาหารมื้อเย็น ยอมรับว่าประหลาดใจกับบะเก่อเออ ทั้งด้วยรสชาติแปลกใหม่น่าสนใจ มีความอร่อย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมากทั้งกลิ่นและรสสัมผัส หลังมื้ออาหารไปขอความรู้จากพะตีบ้านแม่ลายเหนือว่า บะเก่อเออนี่มันคืออะไร ทำไมจึงช่างวิเศษแบบนี้ 

ตอนนั้นฉันยังไม่ประสาอะไรเลยกับอาหารชาติพันธุ์เหล่านี้ ทั้งวัตถุดิบ เครื่องเทศ สมุนไพรต่างๆ ทุกอย่างดูสดใหม่ ไม่เคยรู้ได้เห็นมาก่อน โดยเฉพาะบะเก่อเออนี้ พะตีจึงให้เล่าให้ว่า บะเก่อเออเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของชาวปกาเกอะญอ ผักกาดเขียวที่ปลูกในไร่เมื่อกินไม่หมดจะถูกนำมาเก็บไว้ในรูปผักกาดแห้งเรียกว่า บะเก่อเออ วิธีทำก็คือนำผักกาดแห้งที่ตัดใหม่จากแปลงมาผึ่งให้ “ยม” แบบที่คนเหนือเรียกคือ ก้านและใบนิ่ม เพราะผักกาดคายน้ำออกไปบ้าง ผึ่งสักวันถึงสองวัน จากนั้นนำมาเก็บในตะกร้าหรือกระจาดไว้ในที่ร่มอีก ๓ วัน แล้วจึงนำมาตำในกระบอกไม้ไผ่เพื่อเค้นน้ำออก ค่อยๆ ใส่ผักกาดทีละน้อยแล้วตำจนเต็มกระบอกไม้ไผ่ เสร็จแล้วปิดปากกระบอกด้วยใบตองแห้งหมักไว้อย่างนั้นอีก ๓-๗ วัน (วิธีนี้ได้จุลินทรีย์ธรรมชาติทั้งจากไผ่ ผักกาด และใบตองแห้ง probiotic ของแท้)

หลังจากนั้นจึงเปิดกระบอกไม้ไผ่ เทน้ำออก  (น้ำเอามาทำอาหารได้อีก) แล้วนำผักกาดมาผึ่งในกระจาด ตากแดดให้แห้งแล้วนำมาวางไว้เหนือเตาไฟจนผักกาดแห้งสนิท (กรอบ) ก็จะได้บะเก่อเออที่มีกลิ่นหอมควันไฟ รสเปรี้ยวเล็กน้อยอันเนื่องมาจากการหมัก รสชาติของบะเก่อเออมีความเฉพาะตัว กลิ่นและรสมีความคล้ายสาหร่ายแห้งผสมปลาหมึกแห้ง ที่สำคัญคืออร่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเมนูน้ำพริกที่แค่นำมาย่าง หรือเมนูแกงที่นำบะเก่อเออมาต้มให้ผักกาดคืนตัวและนิ่มขึ้น 

มาบ้านห้วยหินลาดในเที่ยวนี้ฉันจึงไม่ลืมที่จะถามหาบะเก่อเออ และไม่พลาดที่จะนำบะเก่อเออมาทำอาหาร และหนึ่งในเมนูที่ตั้งใจทำก็คือ น้ำพริกบะเก่อเออปลาแห้ง 

ส่วนประกอบ

  • บะเก่อเออ ๑ ถ้วยตวง
  • ปลาแห้ง ๑ ตัว (ที่หมู่บ้านนิยมปลาช่อนทะเลเพราะหาได้ง่ายจากตลาด แต่ในหมู่บ้านบางแห่งก็ใช้ปลาแห้งชนิดอื่นๆ อาจเป็นปลาตัวเล็กจากลำห้วยที่หาได้และทำแห้งเก็บไว้) 
  • กระเทียมไทย ๓-๔ หัว
  • หอมแดง ๓ หัว
  • พริกแห้งกะเหรี่ยง ๖ เม็ด (ความเผ็ดปรับได้ตามชอบ)
  • ดอกเกลือเล็กน้อย
  • ใบหอมชู
  • ผักชี
  • สะระแหน่สำหรับแต่งหน้า

วิธีทำ

  1. นำบะเก่อเออมาคั่วให้หอม พักไว้
  2. คั่วมะแขว่น กระเทียม และพริกแห้งให้สุกหอม (แยกคั่วทีละชนิดเนื่องจากสุกไม่พร้อมกัน)
  3. นำปลาแห้งมาย่างให้สุก สังเกตเมื่อสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม เนื้อปลาสีเข้มขึ้น ระวังอย่าให้เนื้อปลาไหม้
  4. นำกระเทียม หอมแดง พริกแห้ง และมะแขว่นที่ย่างแล้วมาโขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นนำปลาแห้งมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงไปตำรวมกัน โขลกจนเนื้อปลาขึ้นฟู แล้วใส่บะเก่อเออลงไปตำให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ 
  5. เพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติด้วยผักสมุนไพร เช่น ใบหอมชู ผักแพว ผักชี ซอยให้ละเอียดใส่ลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วย เสิร์ฟได้ทันที  
  6. กินแนมกับผักชนิดต่างๆ เช่น ผักแปม ผักรากกล้วย ดอกกุ๊กต้ม มะเขือพวงสด ใบบัวบก

มาอยู่บ้านห้วยหินลาดในหลายวันได้กินแกงเต้าร้างอยู่บ้างในครัวบ้านพ่อนิเวศน์ จึงถามสูตรเด็ดเคล็ดลับมาจากท่าน โดยมีประสิทธิ์คอยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ตั้งแต่การเลือกหาเครื่องประกอบของแกงที่เราได้มาจากป่าวนเกษตรและพื้นที่รอบๆ บ้าน

ประสิทธิ์บอกว่าแกงเต้าร้างนี่ชาวบ้านนิยมกินกันเพราะหาได้ง่าย ยอดอ่อนแม้จะไม่หวานเท่ายอดมะพร้าว แต่ก็มีความกรอบ มัน เมื่อนำมาแกงจะให้อารมณ์เหมือนยอดมะพร้าวแต่รสชาติคล้ายหน่อไม้สด ทำเป็นแกงกึ่งซุปใสให้รสชาติอร่อย วันนี้ขอใหประสิทธิ์หายอดเต่าร้างมาให้เพื่อนำมาแกง ซึ่งฉันดัดแปลงจากต้นตำรับนิดหน่อยให้มีอารมณ์คล้ายซุปใส ซดได้คล่องคอ จึงเตรียมน้ำซุปหัวหอมกับสันคอหมูสไลด์ไว้เป็นน้ำแกง ใส่มะเขือเทศเพิ่มรสเปรี้ยวคล้ายซุปมันฝรั่ง และใส่เผือกจากไร่หมุนเวียน ความจริงแกงนี้แอบใส่บะเก่อเออลงไปด้วยเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสอุมามิ สุดท้ายแต่งกลิ่นเพิ่มรสชาติด้วยใบหอมชู

ส่วนประกอบ

  • ยอดเต่าร้างปอกเหลือแต่ยอดอ่อนข้างใน ๒ ยอด
  • หอมหัวใหญ่ ๒ หัว
  • เนื้อสันคอหมูสไลด์ ๒๐๐ กรัม
  • กระเทียม ๕ กลีบ
  • มะแขว่นคั่วไฟให้หอม ๑ หยิบมือ
  • มะเขือเทศไร่ (ลูกเล็ก) ๑๐ ลูก
  • เผือกหั่นเต๋าต้มสุก ๑๐ ชิ้น
  • บะเก่อเออเล็กน้อย
  • ดอกเกลือเล็กน้อย
  • ใบหอมชู

วิธีทำ

  1. เริ่มจากทำน้ำซุปหัวหอม โดยการนำหอมใหญ่มาซอยเป็นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆ ผัดกับน้ำมันให้หอม ใส่เนื้อสันคอหมูสไลด์ลงไปผัด พอหมูเริ่มสุกเติมน้ำ เคี่ยวไฟอ่อนทิ้งไว้จนเนื้อหมูสุก พักไว้
  2. นำกระเทียมและมะแขว่นคั่วมาโขลกให้ละเอียด ใส่ลงในซุปที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงใส่มะเขือเทศ เต่าร้าง และเผือกต้มสุกลงไป ปรุงรสด้วยเกลือ ชิมให้ได้รสเค็มอ่อนๆ และได้รสหวานเล็กน้อยจากซุปหัวหอม หากอยากให้ซุปมีรสหวานเพิ่มน้ำตาลมะพร้าวได้เล็กน้อยเพื่อความกลมกล่อม
  3. เมื่อเคี่ยวน้ำแกงจนได้รสชาติดีแล้ว เติมใบหอมชูซอยเพิ่มกลิ่นหอม ปิดไฟ ตักเสิร์ฟได้

ในฐานะคนทำอาหารแนวธรรมชาติตามหลักแมคโครไบโอติกส์ ฉันค้นพบว่าอาหารของชาวปกาเกอะญอคืออาหารแห่งชีวิตที่มีความเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาอันลึกซึ้ง แนวคิดเหล่านี้ถูกหล่อหลอมขึ้นจากสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่พวกเขามีต่อธรรมชาติ การกินอยู่ที่เต็มไปด้วยความเคารพ การอนุรักษ์ และสอดประสานไปกับธรรมชาติ คือเสน่ห์และความงดงามที่ปรากฏอยู่ในอาหารและในรสสัมผัสทุกคำที่ลิ้มลอง ดั่งคำกล่าวในบททำคำสอนปกาเกอะญอที่บอกว่า

กินเขียด “ต้องดูแลผา”

กินปลา “ต้องดูแลห้วย”

กินและต้องดูแลรักษา ใช้ทรัพยากรอย่างไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Related posts
FOODFOOD IS LIFEINNOVATION

EASYRICE นวัตกรรม AI ที่ร่วมสร้างความยั่งยืนให้วงการข้าวไทย | THE ISSUE

EASYRICE นวัตกรรม AI…
Read more
FOODFOOD IS LIFE

เสียงจากผู้ประกอบการอาหารอนาคตถึงเกษตรกรไทย : D.Seelin | THE ISSUE

เสียงจากผู้ประกอบการอาหารอนาคตถึงเกษตรกรไทย…
Read more
FOODFOOD IS LIFETHE FARMER

แนวคิดคนทำเกษตรยุคใหม่ | แบรนด์ Chocoholic  

แนวคิดคนทำเกษตรยุคใหม่ | แบรนด์…
Read more
จดหมายข่าว
มาเป็นเพื่อนกับ THE FARMER

สมัครรับข่าวสาร ส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

FOOD IS LIFE

ข้าวยำปักษ์ใต้ ตำรับสวนนาพรุ ของประไพ ทองเชิญ “ธรรมชาติและภูมิปัญญาของท้องถิ่นปักษ์ใต้”

Worth reading...