From soil to soul : Regenerative Agriculture การเกษตรที่ไม่ได้แค่ช่วยฟื้นฟูแค่ผืนดิน แต่ฟื้นฟูความหวังให้แก่โลก
เขียน จันทน์สุภา ชมกุล

เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน หลายคนมักนึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกเหนือจากปัญหาเหล่านี้ยังมีภัยคุกคามที่มองไม่เห็นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเรา นั่นก็คือ ดินที่กำลังสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปอย่างรวดเร็ว
ดินที่สูญหายไปพร้อมกับอนาคตของเรา
ดินที่เราเหยียบอยู่ใต้ฝ่าเท้านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นผิวโลกที่เราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่อาศัย แต่เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและมีพลวัตอันซับซ้อน ดินเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญของโลกในรูปของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และเป็นฐานสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว เกษตรอุตสาหกรรม และการใช้สารเคมีอย่างขาดสำนึกรับผิดชอบ ดินทั่วโลกกำลังเสื่อมโทรมลงในอัตราที่น่าตกใจ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าปัจจุบัน 33% ของดินทั่วโลกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง หมายความว่าเกือบหนึ่งในสามของดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้สูญเสียความสามารถในการผลิตอาหารและรองรับชีวิตของระบบนิเวศไปเรียบร้อยแล้ว
การเสื่อมสภาพของดินไม่ใช่แค่การสูญเสียคุณลักษณะภายนอกหรือคุณสมบัติทางเคมีของดินเท่านั้น เมื่อดินแห้ง แข็ง และกลายเป็นเม็ดทราย นั่นหมายความว่าดินจะไม่สามารถกักเก็บคาร์บอน กักเก็บน้ำ และรองรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในดินได้อีกต่อไป เมื่อดินเสื่อมโทรมจึงไม่ใช่แค่การปลูกพืชไม่ได้ หรือกลายเป็นทะเลทรายที่แห้งผาก แต่ดินยังปลดปล่อยคาร์บอนที่เคยถูกกักเก็บไว้ในรูปแบบชีวมวลต่างๆ ออกสู่บรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมหาศาล
การเสื่อมโทรมของดินจึงไม่ใช่แค่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ แต่คือการสูญเสียอนาคตของเราและคนรุ่นต่อไปที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรดินในการเลี้ยงดูและค้ำจุนชีวิต เพราะดินคือแหล่งกำเนิดของชีวิตและความมั่นคงของระบบนิเวศ หากเรายังปล่อยให้ดินเสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข เราอาจต้องสูญเสียอนาคตทั้งหมดของเราไปอย่างที่ไม่อาจย้อนกลับมาแก้ไขได้อีกเลย




ฟื้นฟูดิน ฟื้นฟูชีวิต ฟื้นฟูโลก
ในตำนานเก่าแก่ของชนเผ่ามายากล่าวถึงการสร้างโลกใหม่ดังปรากฏในคัมภีร์ Popol Vuh หนึ่งในบันทึกที่มีชื่อเสียงที่สุดของวัฒนธรรมมายาในกัวเตมาลา กล่าวว่า
“พวกเขาทำลายโลกด้วยน้ำอีกครั้ง จากนั้นโลกใหม่ก็ถูกสร้างขึ้น และมนุษย์ก็ถูกสร้างใหม่จากข้าวโพด”
ในวัฒนธรรมมายา “ข้าวโพด” ถือเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ชาวมายันเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารหลักที่ให้พลังงานและสารอาหารแก่ชาวมายัน ดังนั้นข้าวโพดที่กล่าวถึงในคัมภีร์จึงไม่ใช่แค่พืชอาหาร แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต การให้กำเนิด และความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน การเกิดขึ้นใหม่ของชีวิตในคัมภีร์มายันจึงหมายถึงเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตที่จะงอกงามขึ้นบนพื้นดินที่อุมดสมบูรณ์ สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของการเกษตรแนวใหม่ที่เรียกว่า เกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบยั่งยืนที่มุงเน้นความสำคัญของการฟื้นฟูดินหรือ “แม่ธรณี” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิต
การเกิดขึ้นของแนวคิดการเกษตรฟื้นฟูจึงเป็นผลพวงของการพยายามหาวิธีการแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมอันเป็นผลมาจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเข้มข้นที่ทำลายดิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน โดยแนวคิดนี้มีรากฐานจากหลายแหล่งที่รวมเอาความรู้ดั้งเดิม การทดลองวิจัย และการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกัน

ยุคเริ่มต้น การทำเกษตรที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์ดิน
การเกษตรฟื้นฟูมีรากฐานมาจากแนวคิดการทำเกษตรที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้เริ่มเป็นที่สนใจในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อเกษตรกรและนักวิทยาศาสตร์เริ่มเห็นผลกระทบของการทำเกษตรแบบเข้มข้นที่ใช้สารเคมีและการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ดินเสื่อมโทรมและความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
หนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาความคิดเรื่องการทำเกษตรที่ยั่งยืนคือ เซอร์ อัลเบิร์ต โฮเวิร์ด (Sir Albert Howard) ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์และเกษตรกรชาวอังกฤษ เขาเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเน้นการใช้ปุ๋ยหมัก การหมุนเวียนพืชผล และการอนุรักษ์ดิน
เกษตรกรรมถาวร (Permaculture) จุดเปลี่ยนของการการทำเกษตรฟื้นฟู
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 บิลล์ มอลลิสัน (Bill Mollison) และเดวิด โฮล์มเกรน (David Holmgren) สองนักวิชาการชาวออสเตรเลีย ได้พัฒนาแนวคิดเกษตรกรรมถาวร (Permaculture) ซึ่งเป็นระบบการออกแบบทางการเกษตรที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการสังเกตธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของพืช สัตว์ และสภาพแวดล้อม เกษตรกรรมถาวรเป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญของการเกษตรฟื้นฟูในยุคปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการออกแบบระบบที่เลียนแบบธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม
การเกิดขึ้นของเกษตรกรรมฟื้นฟู การผสมผสานแนวคิดและการปฏิบัติ
คำว่า “เกษตรกรรมฟื้นฟู” (Regenerative Agriculture) เริ่มปรากฏในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมีความหมายถึงระบบการเกษตรที่ไม่เพียงแค่รักษาสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพของดินและระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง
หลักการของการเกษตรฟื้นฟูมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
และการสร้างระบบที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Rodale Institute ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่บุกเบิกด้านการเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐอเมริกา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมแนวคิดการเกษตรฟื้นฟู Rodale Institute ได้เริ่มต้นโครงการ “Farming Systems Trial” ในปี 1981 ซึ่งเป็นการศึกษาระยะยาวที่เปรียบเทียบผลกระทบของการเกษตรอินทรีย์และการเกษตรแบบดั้งเดิมในหลายภูมิภาคของโลก การวิจัยกว่า 40 ปี ของ Rodale Institute แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรรมฟื้นฟูสามารถเพิ่มปริมาณคาร์บอนในดินได้ถึง 2-4 ตันต่อเฮกตาร์ ( 1 เฮกตาร์เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร หรือ 2 ไร่ 1 งาน) ต่อปี ซึ่งเป็นการกักเก็บคาร์บอนที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแค่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูดินยังช่วยให้ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น และดินที่ได้รับการฟื้นฟูกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งหมายความว่าดินสามารถรองรับการผลิตอาหารในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
เกษตรกรรมฟื้นฟู ทางเลือกและทางรอด

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เกษตรกรรมฟื้นฟูได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และรัฐบาลทั่วโลก เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของดินกลายเป็นวิกฤตที่ต้องได้รับการแก้ไข แนวคิดเกษตรกรรมฟื้นฟูจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนในภาคการเกษตรและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรรมฟื้นฟูได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอินเดียที่มีชื่อเสียง เธอมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนและการฟื้นฟูดิน โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ในอินเดีย การเคลื่อนไหวของวันทนาก่อให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดิน เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก การเสื่อมสภาพของดินในอินเดียจึงมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก
อัลเลน เซวอรี (Allan Savory) Allan Savory นักนิเวศวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านการจัดการที่ดิน และนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมชาวซิมบับเว เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ทำงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมแนวคิด “Holistic Management” ซึ่งเป็นวิธีการจัดการที่ดินแบบบูรณาการเพื่อฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมและเพิ่มความยั่งยืนของเกษตรกรรมในแอฟริกา โดยเฉพาะแนวคิดการเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียนเลียนแบบการย้ายถิ่นของสัตว์ตามธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมโทรมของดินและการขยายตัวของทะเลทรายผ่านการฟื้นฟูทุ่งหญ้าด้วยการใช้สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัว ควบคุมการเล็มหญ้าและทำให้ระบบนิเวศกลับมาอยู่ในสภาวะสมดุล
นอกจากนี้ บริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น General Mills และ Patagonia ก็ได้เริ่มหันมาสนใจและลงทุนในแนวทางเกษตรกรรมฟื้นฟู เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกษตรกรรมฟื้นฟูจึงไม่ได้เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร แต่คือการเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองเห็นดิน มองเห็นการเกษตร และมองเห็นโลกของเรา คือการยอมรับว่าดินคือระบบนิเวศที่ซับซ้อนและมีชีวิตชีวา และมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของโลก
หลักปฏิบัติสำคัญของเกษตรกรรมฟื้นฟู
- การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
หนึ่งในเป้าหมายหลักของเกษตรกรรมฟื้นฟูคือการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และพืชคลุมดินเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ทำให้ดินสามารถกักเก็บน้ำและสารอาหารได้ดีขึ้น
- การปลูกพืชหมุนเวียนและพืชหลายชนิด
การปลูกพืชหมุนเวียน (Crop Rotation) และการปลูกพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน (Polyculture) เป็นอีกหนึ่งหลักปฏิบัติสำคัญของการเกษตรฟื้นฟู ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายของโรคและศัตรูพืช เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- การใช้พืชคลุมดิน
พืชคลุมดิน (Cover Crops) ถูกใช้เพื่อปกป้องดินจากการชะล้างและการพังทลาย อีกทั้งยังช่วยรักษาความชื้นในดิน ลดการเติบโตของวัชพืช และเพิ่มอินทรียวัตถุในดินเมื่อพืชคลุมดินถูกไถกลบลงในดิน
- การเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียน
การเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียน (Rotational Grazing) เป็นการจัดการพื้นที่เลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระบบ โดยให้สัตว์เล็มหญ้าในพื้นที่ต่าง ๆ สลับกันไป ซึ่งช่วยลดการทำลายพืชคลุมดิน รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชใหม่ ๆ
- การฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ
เกษตรกรรมฟื้นฟูมุ่งเน้นการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งการเก็บกักน้ำฝน การสร้างบ่อน้ำขนาดเล็ก และการสร้างระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืนและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตร
- การลดการใช้สารเคมี
เกษตรกรรมฟื้นฟูมุ่งเน้นการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืช ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ การใช้วิธีการทางชีวภาพและธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชและเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตรฟื้นฟู
เกษตรกรรมฟื้นฟูจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาและช่วยฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม แต่หมายถึงการฟื้นฟูชีวิต พลวัต และศักยภาพของดินตามธรรมชาติ อาทิ การกักเก็บคาร์บอนในดิน ซึ่งเป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศและช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการการเกษตรฟื้นฟู นอกจากนี้ การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนอีกด้วย
เกษตรกรรมฟื้นฟูจึงหมายถึงการสร้างโลกใหม่ในความหมายของจารึกเผ่ามายันที่ว่า “มนุษย์จะถูกสร้างขึ้นจากข้าวโพด” ผ่านการฟื้นฟูดิน ฟื้นฟูชีวิต และฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ ด้วยหลักปฏิบัติที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโลกและอนาคตของมนุษย์เราขึ้นมาใหม่นั่นเอง
เกษตรกรรมฟื้นฟู เส้นทางสู่อนาคตที่เราต้องเดินไปด้วยกัน
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดชุมชนเกษตรฟื้นฟูขึ้นทั่วโลกและเติบโตอย่างรวดเร็ว ชุมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม แต่ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกใหม่ที่ยั่งยืนและมีความหลากหลายทางชีวภาพที่มั่นคง ชุมชนแต่ละแห่งกำลังทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ และนำแนวคิดเกษตรฟื้นฟูไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรและชุมชนอื่นๆ ทั่วโลก
Finca Bellavista คอสตาริกา

Finca Bellavista ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยคู่สามีภรรยา Erica และ Matt Hogan ที่ต้องการสร้างชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ และรักษาความงดงามของธรรมชาติในป่าฝนเขตร้อนของคอสตาริกา ชุมชนนี้ออกแบบให้เป็น “หมู่บ้านต้นไม้” ที่บ้านทุกหลังถูกยกสูงจากพื้นเพื่อคงสภาพแวดล้อมดั้งเดิม พร้อมกับรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่
แนวคิดหลักของ Finca Bellavista คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน โดยนำหลักการของเกษตรฟื้นฟูมาใช้ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้พืชคลุมดิน และการทำปุ๋ยหมักจากเศษพืชและขยะอินทรีย์ เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน นอกจากนี้ยังใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ และมีระบบเก็บน้ำฝนและบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการธรรมชาติ
Finca Bellavista มุ่งมั่นอนุรักษ์ป่าฝนและสัตว์ป่าในพื้นที่ ด้วยการกำหนดเขตป่าอนุรักษ์และสร้างเส้นทางเดินป่าเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ชุมชนยังส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเกษตรฟื้นฟูและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ชุมชนแห่งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในชุมชนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในโลก เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ชีวิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมฟื้นฟูสามารถเป็นจริงได้ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั่วโลกที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่โลก.
Polyface Farm สหรัฐอเมริกา

Polyface Farm ก่อตั้งในปี 1961 โดยวิลเลียมและลูซิลล์ ซาลาตินในรัฐเวอร์จิเนีย และต่อมาได้ถูกพัฒนาโดยโจเอล ซาลาติน ลูกชายของเขา ฟาร์มนี้กลายเป็นต้นแบบของการเกษตรที่ยั่งยืนและฟื้นฟูดิน โดยเน้นการเลียนแบบธรรมชาติและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
แนวคิดหลักของฟาร์มคือการเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียน (Rotational Grazing) ที่ช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดการทำลายพืชคลุมดิน และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ฟาร์มยังเน้นการปลูกพืชผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และใช้วิธีการทางธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืชและโรค เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของดิน น้ำ และอากาศ
Polyface Farm ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในโอเอซิสการผลิตอาหารแบบไม่ใช้ระบบอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในอเมริกา ด้วยความเชื่อว่าการออกแบบของผู้สร้างโลกยังคงเป็นแบบแผนที่ดีที่สุดสำหรับโลกชีวภาพ ครอบครัวซาลาตินจึงเชิญชวนผู้ที่มีแนวคิดเดียวกันให้เข้ามาส่วนร่วมในการทำฟาร์ม และร่วมกันพัฒนากิจการเกษตรที่ไม่เพียงมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเสริมส่งเสริมการพัฒนาด้านจิตและอารมณ์ การรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการขยายแนวคิดและหลักปฏิบัตินี้ไปทั่วโลก
La Junquera สเปน

La Junquera ตั้งอยู่ในภูมิภาคมูร์เซียทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน ฟาร์มนี้เป็นหนึ่งในโครงการเกษตรฟื้นฟูที่สำคัญที่สุดในยุโรป ได้รับการพัฒนาโดย Alfonso Chico de Guzmán เจ้าที่ดินของรุ่นใหม่ที่ได้นำแนวคิดเกษตรฟื้นฟูมาปรับใช้กับพื้นที่ที่เคยถูกทำลายจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและสร้างความยั่งยืนให้กับฟาร์ม
La Junquera มีแนวคิดหลักคือการฟื้นฟูดินและระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ด้วยการนำเทคนิคการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ ฟาร์มนี้เน้นการสร้างระบบการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติและยั่งยืนในระยะยาว โดยผสมผสานเทคนิคต่างๆ เช่น การปลูกพืชคลุมดิน การใช้ปุ๋ยหมัก และการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฟาร์มตั้งอยู่ในภูมิภาคที่แห้งแล้ง การจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ La Junquera ใช้ระบบเก็บน้ำฝนและระบบชลประทานที่ประหยัดน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำถูกใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่สิ้นเปลือง
ฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมฟื้นฟูแก่เกษตรกรรุ่นใหม่และนักวิชาการ มีการจัดเวิร์กช็อปและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเกษตรที่ยั่งยืน La Junquera ยังได้รับการยอมรับในฐานะตัวอย่างของการฟื้นฟูดินและเกษตรกรรมฟื้นฟูในยุโรป ความสำเร็จของฟาร์มแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนี้ La Junquera ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรและผู้สนใจในการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนในพื้นที่ที่มีความท้าทายทางธรรมชาติสูง และแสดงให้เห็นว่าแม้ในพื้นที่ที่เคยถูกทำลาย เกษตรกรรมฟื้นฟูสามารถนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ความยั่งยืน และการฟื้นฟูระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
Syntropic Farming บราซิล

การทำเกษตรแบบ Syntropic Farming เป็นแนวคิดการเกษตรที่พัฒนาโดย Ernst Götsch นักเกษตรกรชาวสวิสในทศวรรษที่ 1980 ซึ่งย้ายไปอาศัยอยู่ที่บราซิลเพื่อต่อสู้กับปัญหาดินเสื่อมโทรม แนวคิดนี้เน้นการเลียนแบบระบบนิเวศธรรมชาติ โดยการปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันและจัดเรียงเป็นชั้นต่างระดับหลายเรือนยอด เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินและความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูดินเป็นหัวใจสำคัญของวิธีการนี้ โดยใช้พืชคลุมดินและวัสดุธรรมชาติเพื่อรักษาความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน รวมถึงการใช้พืชที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาช่วยเพิ่มสารอาหารให้ดิน
Götsch ยังเน้นการเก็บเกี่ยวที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และการลดหรือเลิกใช้สารเคมีในการเกษตร โดยการใช้พืชหมุนเวียนและการปลูกพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน ทำให้ระบบเกษตรมีความสมดุลและต้านทานโรคพืชได้โดยธรรมชาติ แนวคิดนี้ได้รับการนำไปใช้ในหลายพื้นที่ของบราซิล เช่น รัฐบาเฮียและรัฐเซาเปาโล ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
Syntropic Farming ได้รับความสนใจและยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลกในฐานะหนึ่งในแนวทางการเกษตรที่ยั่งยืนที่สุด โดยแสดงให้เห็นว่าการเกษตรสามารถทำงานร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนโดยไม่พึ่งพาสารเคมี แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูดินและเพิ่มผลผลิต แต่ยังสร้างระบบนิเวศที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับอนาคต
Farming Secrets แพลทฟอร์มสื่อสารการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน
Farming Secrets เป็นองค์กรในออสเตรเลียที่มุ่งเน้นการให้ความรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับเกษตรกรรรมฟื้นฟูและการเกษตรยั่งยืน ก่อตั้งโดย Hugo และ Helen Disler มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างฟาร์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้วิธีการเกษตรที่ลดการพึ่งพาสารเคมีและส่งเสริมการฟื้นฟูดิน
Farming Secrets นำเสนอหลักสูตรและเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียน (Rotational Grazing) การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้พืชคลุมดิน การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนสารเคมี โดยมุ่งเน้นการสอนเกษตรกรให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพของดิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตรที่ยั่งยืนและให้ผลผลิตในระยะยาว
นอกจากนี้ Farming Secrets ยังสร้างชุมชนออนไลน์ที่เกษตรกรสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำฟาร์มอย่างยั่งยืน โดยให้บริการเนื้อหาการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบวิดีโอ หนังสือ และการสัมมนาออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้สนใจทั่วโลก
จะเห็นได้ว่าการฟื้นฟูโลกอาจไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง รวมถึงไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขัน นั่นก็คือการกอบกู้และฟื้นฟูดินที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของเรา ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้ และหลงเหลืออนาคตที่เป็นความหวังไว้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป
อ้างอิง
• FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations). “Status of the World’s Soil Resources.” FAO and ITPS, 2015
• UNCCD (United Nations Convention to Combat Desertification). “Global Land Outlook.” First Edition, 2017
• กรมพัฒนาที่ดิน, “สถานการณ์การชะล้างพังทลายของดินในประเทศไทย,” รายงานประจำปี, 2019
• Indian Council of Agricultural Research (ICAR). “State of Indian Agriculture.” Ministry of Agriculture and Farmers Welfare, Government of India, 2016.
• Ministry of Natural Resources, China. “China’s Land Degradation Assessment Report.” 2018.
• Borrelli, P., et al. “An Assessment of the Global Impact of 21st Century Land Use Change on Soil Erosion.” Nature Communications, 2017.
• Smith, P. et al. “The Vulnerability of Russian Soils to Climate Change.” Geoderma, 2016.
• European Commission. “Soil Erosion in Europe.” European Soil Data Centre (ESDAC), 2019.
• Australian Government Department of Agriculture, Water and the Environment. “State of the Environment Report: Land.” 2021.
Rodale Institute. “Farming Systems Trial: Celebrating 40 Years.” Rodale Institute.
Tamburini, G., et al. (2020). “Agricultural diversification promotes multiple ecosystem services without compromising yield.” Nature Sustainability, 3, 947–954.
FAO. (2019). “Regenerative Agriculture: A pathway to resilience in a changing climate.” FAO.
Lal, R. (2016). “Soil carbon sequestration impacts on global climate change and food security.” Carbon Management, 7(4), 419-431.
https://www.porvenirdesign.com/blog/2019/7/24/1bufd9zncys2tlph3qmmkz57ncqgsq
www.mdpi.com/2071-1050/7/9/12490
link.springer.com/referenceworkentry/10.1007/978-3-319-71062-4_48-1