
หากฉันจะบอกคุณว่า “ดวงอาทิตย์มีรสหวาน” คุณจะเชื่อฉันไหม
ฉันรู้ว่ามันอาจฟังดูเหมือนไร้สาระ แต่ฉันอยากให้คุณได้ลองเปิดใจฟัง แล้วคุณจะรักความหวาน รักดวงอาทิตย์ รักสิ่งที่ดวงอาทิตย์มอบให้อย่างไม่มีเงื่อนไข
ความหวานเลี้ยงดูชีวิตให้เติบใหญ่นับตั้งแต่น้ำนมหยดแรก จนถึงกล้วยน้ำหว้าสุกงอมที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำตาลหวานลิ้น สร้างความเติบโตให้แก่ทารกในวัยที่ยังเคี้ยวไม่ได้และกระเพาะอาหารยังไม่พร้อมทำงานหนัก ความหวานจึงเป็นรสชาติแรกที่ชีวิตได้สัมผัส เป็นรสชาติของความงอกงามเติบโต เป็นรสชาติของความรัก
หากพิจารณาในมุมมองของวิทยศาสตร์เราจะพบว่า ความหวานเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานเคมีเก็บสะสมไว้ในรูปของแป้งและน้ำตาล ซึ่งหากมองด้วยมุมมองเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียว ความหวานก็คือแป้งและน้ำตาลที่ปราศจากจิตวิญญาณ เป็นแป้งและน้ำตาลที่ในปัจจุบันถูกมองเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสุขภาพ ทั้งที่ในความเป็นจริง ความหวานหรือน้ำตาลนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งมวล น้ำตาลคือความรักอันยิ่งใหญ่ของดวงอาทิตย์ที่ยอมเสียสละเผาผลาญตนเองผ่านปฏิกิริยานิวเคลียวฟิวชั่นเพื่อเปลี่ยนไฮโดเจนทุก 4 อะตอมให้กลายเป็นฮีเลียม 1 อะตอม ดวงอาทิตย์เผาไหม้ตนเองอยู่ทุกคืนวันทั้งในยามมืดและสว่างเพื่อสร้างสรรค์ปราฏการณ์ทั้งหมดบนโลกใบนี้ ความหวานจึงเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ และเป็นปรากฏการณ์แห่งชีวิตมานับตั้งแต่แสงแรกของดวงอาทิตย์ได้ส่องสว่าง

ความรักของดวงอาทิตย์จึงอยู่ในเมล็ดข้าว เมล็ดธัญพืช ในรากในเหง้าของพืชลงหัว ในน้ำหวานดอกไม้ ในลำต้นของอ้อย และเมเปิ้ล หรือแม้แต่ในรวงรังของผึ้ง ดังนั้นหากใครต้องการสัมผัสความหวานอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติก็เพียงแค่เคี้ยวข้าวให้นานขึ้น ให้ข้าวได้ถูกน้ำลายย่อยจนหวานฉ่ำแล้วจึงดื่มกลืนลงไป ดังที่คานธีกล่าวว่า “ จงกินสิ่งที่ดื่ม และดื่มสิ่งที่กิน”
อีกหนึ่งการทดลองที่ทำให้เราสัมผัสความหวานอันบริสุทธิ์ของดวงอาทิตย์ คือการกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ซึ่งเชื่อว่าใครหลายคนอาจเคยทำมาก่อน ฉันคนหนึ่งล่ะที่ชอบดึงก้านเกสรของดอกเข็มขึ้นมาและเล็มหยดน้ำหวานหยดเล็กๆ ที่แสนชื่นใจและน่าทึ่ง เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องเล่นซุกซนแบบเด็กๆ เช่นนั้นก็สามารถสัมผัสความหวานของดวงอาทิตย์ได้ เพราะคนโบราณเรียนรู้เรื่องนี้มายาวนานและรู้วิธีให้ได้มาซึ่งความหวานจากดอกไม้ นั่นก็คือ การเก็บน้ำหวานจากช่อดอกของพืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว ตาลโตนด และจาก เป็นต้น กลายเป็นที่มาของน้ำหวานช่อดอกมะพร้าว น้ำตาลสด และน้ำตาลมะพร้าวหรือตาลโตนด
นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถหมักบ่มความหวานได้เองจากข้าวเหนียวดังที่รู้จักกันในนามของ “ข้าวหมาก” ซึ่งเป็นการหมกบ่มข้าวเหนียวโดยจุลินทรีย์ที่แปรเปลี่ยนแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล ที่มีการเก็บเชื้อแห้งไว้เรียกว่า “ลูกข้าวแป้ง” การทำข้าวหมากจึงเป็นการหมักข้าวเหนียวสุกด้วยลูกข้าวแป้งซึ่งเป็นยีสต์แห้ง โดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน ก็จะได้น้ำตาลหวานฉ่ำพร้อมด้วยแร่ธาตุและสารอาหารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะจุลินทรีย์ดีที่มีอยู่มากมายหลายชนิดในข้าวหมาก

ข้าวหมากจึงเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนไทยที่รู้จักหมักบ่มรสหวานซึ่งหากบ่มต่อไปเรื่อยๆ รสหวานนั้นจะกลายเป็นรสขมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณ (spirit) ของดวงอาทิตย์อย่างแท้จริง
สำหรับฉันแล้วการดื่มความหวานของดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนพรแห่งชีวิต ไม่ว่าความหวานนั้นจะเป็นน้ำตาลบริสุทธิ์ หรือเป็นจิตวิญญาณอย่างแอลกอฮอล์ ในการหมักข้าวหมาก ฉันจึงมักหมักด้วยเชื้อข้าวแป้งที่มากกว่าปกติให้ข้าวเหนียวเปลี่ยนเป็นน้ำหวานได้เร็วขึ้น และน้ำตาลถูกเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ได้เร็วขึ้นเช่นกัน ด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมความขมและความหวานจะผสมผสานกันอย่างลงตัวกลายเป็นน้ำข้าวหมาก หรือ Rice Drink ที่หวานซาบซ่า อบอุ่น และทรงพลังอย่างที่สุด




น้ำข้าวหมาก (Rice Drink)
ส่วนผสม
ข้าวเหนียวเขียวงูอินทรีย์ 1 กิโลกรัม
ลูกข้าวแป้งข้าวหมาก 1 ลูกครึ่ง (เวลาซื้อถามผู้ขายว่าอัตราส่วนของลูกข้าวแป้งต่อข้าวเหนียวคือเท่าไหร่ ปกติจะ 1:1 )
วิธีทำ
- นำข้าวข้าวเหนียวมาล้างน้ำให้สะอาด 2-3 น้ำ เสร็จแล้แช่ข้าวเหนียวค้างคืนไว้
- นำข้าวเหนียวมาหุงในสุก ในกรณีทำข้าวหมาก หุงข้าวเหนียวให้สุกพอดี กรณีทำน้ำข้าวหมาก หุงข้าวเหนียวให้สุกมากกว่าปกติ
- เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วให้นำมาเทลงบนถาด พายข้าวเหนียวให้เย็นและผึ่งทิ้งไว้
- นำข้าวเหนียวที่ผึ่งไว้ไปล้างน้ำให้ข้าวเหนียวแยกเมล็ด ไม่เกาะกันเป็นก้อน เสร็จแล้วกรอก ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
- นำลูกข้าวแป้งมาบดให้ละเอียด จากนั้นนำมาโรยลงบนข้าวที่ผึ่งไว้ คนให้ข้าวแป้งคลุกเคล้าข้าวเหนียวจนทั่ว
- เตรียมภาชนะสำหรับหมักข้าวหมาก อาจเป็นหม้อ โหลแก้วที่มาฝาปิด หรือไหที่มีฝาปิดสนิท นำข้าวเหนียวที่คลุกข้าวแป้งเสร็จแล้วใส่ลงในภาชนะ ปิดฝา วางไว้ที่อุณหภูมิห้อง ผ่านไปสองคืนให้ลองชิมน้ำหวานที่ได้จากการหมัก ถ้าน้ำตาลหวานแล้วและต้องการรสหวานให้ตักข้าวหมากออกมาบรรจุภาชนะ เก็บไว้ในตู้เย็น หากต้องการแอลกอฮอล์ให้หมักต่ออีก 1-2 วัน เมื่อเริ่มมีรสซ่า ให้กรองน้ำหวานออก และบีบคั้นน้ำข้าวให้ออกมาจนหมด จะได้น้ำหมากข้าวสีขาวเหมือนนม รสหวานซ่าลิ้น
ภาพประกอบ และ เรื่อง โดย จันทน์สุภา ชมกุล