ผ้าทอจากคนไทยภูเขาหรือกลุ่มชาติพันธุ์มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม มีรูปแบบอันเป็นอัตลักษณ์เด่นชัด เช่น ผ้าทอชาวเมี่ยน ผ้าปักลายชาวม้ง ผ้าทอไทลื้อ ส่วนผ้าทอของชาวปกาเกอะญอเป็นผ้าทอเรียบง่าย ลวดลายมีไม่เยอะ แต่รูปแบบสามารถจำแนกได้ว่าเป็นผ้าทอเฉพาะของตัวเอง




ล่าสุดได้พบว่าผ้าทอของชาวปกาเกอะญอหรือชาวกระเหรี่ยงแถวๆ เมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน มีการพัฒนาให้เกิดความร่วมสมัย การออกแบบผ้าทอของปกาเกอะญอครั้งนี้เกิดจากคุณวาสนา เป็งมน “กุ๊กไก่” สาวบ้านป่า บ้านอยู่วัดจันทร์หรือ อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เข้าไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชมงคล จ.ลำปาง หลังเรียนจบไปทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยอยู่ 2 ปีแล้วลาออก จากนั้นไปทำงานที่สวนนงนุช จ.ชลบุรี อีก 2 ปี แล้วย้อนขึ้นมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน สุดท้ายรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนจึงกลับมาบ้านเกิดที่บ้านวัดจันทร์ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ อ.ปาย จ.มาฮ่องสอน เธอกลับมาทำเกษตรกรรมบ้าง ทำเครื่องประดับบ้าง แล้วแต่ช่วงจังหวะเวลาจะเอื้ออำนวย

วันหนึ่งคุณกุ๊กไก่ได้พบกับ “คุณกบ ปายนาปายตา” ทั้งสองได้พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดีย แล้วริเริ่มทำ ทำจากพื้นฐานที่สั่งสมมาแต่เด็ก คือการทอผ้าฝ้ายอย่างที่เคยทำ รวมถึงให้ผู้เฒ่าและเด็กๆ ในหมู่บ้านร่วมทอด้วย จากนั้นคุณกบนำผ้าทอมาประยุกต์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ย่าม กระเป๋า ปลอกหมอน รวมถึงชุดปกาเกอะญอก็นำมาปรับลวดลายเพิ่มเติมจนเกิดเป็นรูปลักษณ์ใหม่ แต่ไม่ทิ้งความเป็นปกาเกอะญอดั้งเดิม ต่อมามีลูกค้าชาวญี่ปุ่นติดตามงานอยู่กลุ่มหนึ่ง




หลังสร้างสรรค์งานผ้าทอจากธรรมชาติซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ คราวนี้เริ่มดีไซน์งานกันใหม่ ด้วยการทำ “เสื่อโยคะ” ตอนแรกติดปัญหาตรงที่ “กี่” (เครื่องมือทอผ้า) ของชาวปกาเกอะญอเป็นกี่หน้าแคบ คือเขาทอผ้าไว้สวมใส่เองจึงมีกี่เฉพาะตัว ทอผ้า ทอชุด ทอเสื้อเพื่อตัวเอง ทอใส่เอง ไม่ได้นำไปใช้อย่างอื่น จึงเป็นที่มาของการขยายกี่ให้กว้างขึ้น โดยมีความกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 190 เซนติเมตร ปรากฏว่าเสื่อโยคะที่ทอออกมาใช้ได้ดี เนื้อผ้าแน่น มีความนุ่มนวลยืดหยุ่น เหมาะกับการนำมาเป็นเสื่อสำหรับการเล่นโยคะ ถูกอกถูกใจสายโยคะซึ่งหมายรวมถึงฝรั่งและชาวญี่ปุ่นที่นิยมการเล่นโยคะด้วย



ตอนนี้เสื่อโยคะเริ่มผลิตมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลาในการทอมากกว่าผ้าแบบเดิม เหตุเพราะผ้าผืนใหญ่ขึ้น กรรมวิธียังทอมือแบบเดิม ส่วนผ้าทอปกาเกอะญอจะพัฒนาไปในรูปแบบใดต้องคอยติดตามต่อไปในอนาคต และนี่คือผ้าทอร่วมสมัยของชาวปกาเกอะญอที่ได้นักอออกแบบฝีมือดีเข้ามามีส่วนร่วม นับเป็นเส้นทางการดำเนินชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย ผ้าทอที่เคยทอใช้เองเริ่มเข้าสู่ตลาด เริ่มถูกกล่าวถึงในอีกบริบทหนึ่ง เมื่อสิ่งที่ขาดถูกเติม สิ่งที่เติมเริ่มสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม รอยยิ้มและแรงใจจึงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ การดำเนินชีวิตแบบพึ่งพิงกันแบบนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่รายได้อย่างเดียว แต่ก่อเกิดเป็นความสุขร่วมในสังคมเล็กๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะยืนยาวต่อไป



ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การก่อเกิดผ้าทอในนามชีวาดินนอกจากจะสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้คนพื้นถิ่นกลับมาเห็นคุณค่าของฝ้าย หลังจากฝ้ายห่างหายไปจากหมู่บ้าน หายไปจากครัวเรือน เป็นช่วงที่เส้นด้ายสังเคราะห์เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิต (นานหลายสิบปี) ตอนนี้พวกเขาเริ่มกลับมาหาฝ้าย กลับมาปลูกฝ้าย ฝ้ายที่เคยเคียงคู่อยู่กับชาวปกาเกอะญอมาตั้งแต่บรรพบุรุษกลับมาแล้วครับ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเมืองปาย จ.แม่ฮ่อนสอน หากสนใจผ้าทอร่วมสมัยของชาวปกาเกอะญอสามารถแวะเข้าไปชมได้ที่ร้านชีวาดิน บ้านปายนาปายตา อยู่ก่อนถึงตัวเมืองปาย 3 กิโลเมตรครับ


#@cheevadin
#painapaitahome
ภาพประกอบและบทความ
โดย พายุทราย พรายทะเล
เพจ FB: khobjaithailand