From soil to soul : ฟื้นฟูโลกที่แตกหัก ความร่วมมือเพื่อยุติไมโครพลาสติก คืนความบริสุทธิ์ให้ท้องทะเล ผืนดิน และร่างกายมนุษย์
เขียน จันทน์สุภา ชมกุล

ทุกๆ ปีในช่วงฤดูมรสุม ท้องทะเลอันปั่นป่วนจะพัดพาคลื่นขยะจำนวนมากขึ้นสู่ชายฝั่ง ขยะเหล่านี้ร้อยละ ๙๙ เป็นขยะพลาสติกหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่หลอดพลาสติก ขวดน้ำ บรรจุภัณฑ์ และซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่แตกหักผุกร่อนเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ รวมทั้งยังมีชิ้นส่วนของโพลิเมอร์ดูดน้ำในผ้าอ้อมอนามัยที่แตกกระจายเป็นวุ้นใสๆ จนแทบแยกแยะไม่ออกว่านี่คือผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือวัสดุสังเคราะห์กันแน่
ขยะทะเลเปรียบเสมือนฝันร้ายของมหาสมุทร พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากเหล่านี้ใช้เวลายาวนานกว่านับร้อยนับพันปีกว่าจะผุพังไปเองตามธรรมชาติ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่าทุกปีมีพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร บางส่วนที่ทับถมกันเป็นจำนวนมากจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรสร้างปัญหานานัปการให้แก่ระบบนิเวศในทะเล ขณะที่บางส่วนพัดกระจายไปกับคลื่นทั่วทุกหนแห่ง ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กทั้งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและที่มองไม่เห็น ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” (อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มม. มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่) ได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทรและชายฝั่ง
ไมโครพลาสติก ฝันร้ายของท้องทะเล






ตามรายงานของนักวิจัยจาก National Geographic ระบุว่าไมโครพลาสติกมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่กลืนกินชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กนี้เข้าไป ทำให้ระบบทางเดินอาหารอุดตันและสัตว์เสียชีวิตได้ในที่สุด ไมโครพลาสติกยังสามารถแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระดับที่เล็กที่สุดอย่างแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็กได้อีกด้วย เมื่อสัตว์น้ำเหล่านี้ถูกกินโดยสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น ไมโครพลาสติกก็ถูกสะสมในร่างกายของสัตว์ทะเลเหล่านั้นเรื่อยมา จนกระทั่งไปถึงจานอาหารของมนุษย์ นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในอาหารทะเล น้ำดื่ม และแม้แต่ในเกลือที่เราบริโภคทุกวัน ไมโครพลาสติกจึงเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางอาหารที่ยากจะหลีกเลี่ยงเนื่องจากเป็นสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไม่ต่างจากสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนในพืชผักผลไม้จากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี
รายงานจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย ยังระบุอีกว่ามนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกไปพร้อมกับอาหารในปริมาณกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 5 กรัม/สัปดาห์ ซึ่งเทียบได้กับบัตรเครดิต 1 ใบ และมีรายงานจากนักวิทยาศาสตร์ รพ.ปักกิ่ง อันเซิน ในประเทศจีน และนักวิจัยจาก ACS’ Environmental Science & Technology ตรวจพบไมโครพลาสติกใน อุจจาระ ปอด และ รกของมนุษย์ รวมถึงในช่องปาก ช่องทวารหนัก โพรงมดลูก และ ช่องคลอด ซึ่งเป็นไปได้ว่ามาจากการสัมผัสโดยตรง เช่น การหายใจ การกิน และการสัมผัสทางผิวหนัง แสดงให้เห็นถึงการแทรกซึมของไมโครพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมสู่ร่างกายมนุษย์ที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะอันตรายของไมโครพลาสติกนั้นมาจากความสามารถในการดดูซับและปลดปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมา ได้แก่ การปลดปล่อยพาทาเลต (Phthalates) และบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A หรือ BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีการศึกษาเกี่ยวกับการรบกวนระบบฮอร์โมนและส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ส่วนการดูดซับสารเคมีที่เป็นอันตรายได้แก่ พอลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated Biphenyls หรือ PCBs) ที่เคยถูกประกาศห้ามในอุตสาหกรรม,ยาฆ่าแมลง, โลหะหนัก และสารเพอร์ฟลูออโรอัลคิล (Perfluoroalkyl Substances หรือ PFASs) สามารถส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในธรรมชาติจึงเปรียบเสมือนภัยร้ายที่มองไม่เห็นที่เรายังคงยินยอมปล่อยให้พลาสติกเหล่านั้นแตกสลายต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง
ซ่อมแซมโลกที่แตกหัก ความร่วมมือที่เริ่มต้นได้เดี๋ยวนี้
ปัญหาไมโครพลาสติกไม่ใช่แค่เรื่องของการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทุกอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตบนโลกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึง “การผุพัง” ในวิธีการที่เราจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ถึงเวลาที่เราต้องถามตัวเองว่าเราให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากเกินไปจนไม่ใส่ใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวหรือไม่
การแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกรวมถึงการแก้ปัญหาไมโครพลาสติกคงไม่ใช่แค่การศึกษาวิจัยที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้าช่วยคัดกรองและกำจัดไมโครพลาสติกให้หมดสิ้นไป แต่เราต้องไม่ยอมให้เกิดการเกิดพุผังแตกสลายของพลาสติกขึ้นตั้งแต่แรกด้วย
Plastic Pollution Coalition องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นการสื่อสารและการรณรงค์เพื่อโลกที่ปลอดจากมลพิษจากพลาสติกและผลกระทบที่เป็นพิษจากพลาสติก ได้จัดทำโครงการริเริ่ม “Flip the Script on plastics” เพื่อรณรงค์การเปลี่ยนจิตสำนึกต่อการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง โครงการดังกล่าวนี้มุ่งช่วยเหลืออุตสาหกรรมบันเทิงให้เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกทั้งในการถ่ายทำและในเนื้อเรื่อง เพราะอุตสาหกรรมบันเทิงคือสื่อที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและทัศนคติของผู้คน ดังที่ Jack Bender โปรดิวเซอร์และผู้กำกับโทรทัศน์ที่มีผลงานใน Game of Thrones, The Sopranos, Lost และ Mr. Mercedes กล่าวว่า “ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เล่าเรื่องราวและเป็นแบบอย่างของพฤติกรรมที่มีพลังในการส่งอิทธิพลลึกซึ้งต่อวัฒนธรรมสมัยนิยม ผ่านการเล่าเรื่องและการทำงานในกองถ่าย โครงการนี้สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในอุตสาหกรรมบันเทิงได้อย่างชัดเจน”
โครงการริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีทีเดียวจากคนในแวดวงบันเทิงและจากสมาชิกที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จากหนังตัวอย่างของ Flip the Script on Plastics” เราจะเห็นถึงร่วมมือกันผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำที่มุ่งเน้นเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น “สิ่งที่เราดูมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมและสร้างตัวตนของเรา” Dianna Cohen ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Plastic Pollution Coalition กล่าว “สื่อมีพลังในการจินตนาการใหม่ถึงโลกและสร้างเส้นทางไปสู่โลกที่ยั่งยืน ใช้ซ้ำได้ เติมเต็มได้ ปลอดพลาสติก สุขภาพดี และเจริญรุ่งเรืองสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด หากเราเพียงแค่ลงมือทำในตอนนี้”
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์โลกที่ปลอดมลพิษจากพลาสติก แต่เราก็จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ เช่น นโยบายของรัฐบาลที่ควบคุมการผลิตและจัดการขยะพลาสติกอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นการทำความสะอาดมหาสมุทร และการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากไมโครพลาสติก .
ปัจจุบันหลายประเทศได้ดำเนินนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและจัดการกับปัญหามลพิษพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น:
- การห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว: หลายประเทศ เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) เช่น ถุงพลาสติก หลอด และบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกเหล่านี้กลายเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากในสิ่งแวดล้อม
- การเก็บภาษีพลาสติก: หลายประเทศได้ใช้นโยบายเก็บภาษีผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตและส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การส่งเสริมการรีไซเคิล: การออกกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อการกำจัดบรรจุภัณฑ์ของตนเองหลังการใช้งาน (extended producer responsibility หรือ EPR) ช่วยให้เกิดการรีไซเคิลและนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ในวงจรเศรษฐกิจ
นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการเกี่ยวกับการทำความสะอาดมหาสมุทร ซึ่งเน้นการร่วมมือกันของบุคคลและองค์กรต่างๆ ในการช่วยกันทำความสะอาดทะเลและมหาสมุทรให้มากเท่าที่จะทำได้ ได้แก่
- The Ocean Cleanup: เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย Boyan Slat ซึ่งมีเป้าหมายในการเก็บขยะพลาสติกจากมหาสมุทร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสะสมของขยะพลาสติกจำนวนมาก เช่น Great Pacific Garbage Patch โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีเครื่องมือดักจับขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานในแม่น้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล
- Ocean Conservancy: องค์กรนี้เป็นผู้ริเริ่มโครงการ International Coastal Cleanup ซึ่งเป็นโครงการทำความสะอาดชายหาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกปีอาสาสมัครจากทั่วโลกจะร่วมกันเก็บขยะตามชายหาดและทำการสำรวจประเภทของขยะที่พบ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการสร้างนโยบายและการแก้ไขปัญหาขยะทะเล


รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดผลกระทบจากไมโครพลาสติก ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกใหม่ได้โดยไม่สูญเสียคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีเช่น Pyrolysis หรือการสลายพลาสติกเป็นน้ำมันและก๊าซเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ ก็เป็นแนวทางที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาวัสดุทางเลือกก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างมาก เพื่อนำมาใช้ทดแทนพลาสติกแบบเดิมที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น การวิจัยและพัฒนาพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable) หรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลาสติกจากพืช (bioplastics) ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติในระยะเวลาที่สั้นกว่าพลาสติกทั่วไป รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีกรองไมโครพลาสติกในระบบบำบัดน้ำเสียและน้ำประปา เพื่อป้องกันไม่ให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำดื่มและสิ่งแวดล้อม
โลกที่ดูเหมือนจะแข็งแกร่งนี้แท้จริงแล้วเปราะบางมากกว่าที่เราคิด ถึงเวลาที่เราจะต้องกลับมาทะนุถนอมโลกใบนี้ของเราเหมือนการดูแลเด็กน้อยให้เขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง และซ่อมแซมความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะว่าเด็กน้อยคนนั้นก็คือพวกเราทุกๆ คน
อ้างอิง
Plastic Pollution Facts | Plastic Pollution Coalition
https://www.bbc.com/thai/features-48541027https://www.thaipost.net/main/detail/54184