ช่วงนี้เพื่อนๆ คงได้เห็นกระแสในโลกออนไลน์ถึงการปล่อยตั๊กแตนคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อการทำบุญกันอยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ส่งผลดีต่อเกษตรกรสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากตั๊กแตนเป็นศัตรูของพืชเศรษฐกิจสำคัญถึง 34 ชนิด ทั้งพืชตระกูลข้าว พืชตระกูลถั่ว ไม้ผลและพืชผักต่าง ๆ

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อและขอความร่วมมือให้หยุดการกระทำดังกล่าว เนื่องจากตั๊กแตนเป็นศัตรูของพืชเศรษฐกิจสำคัญมากกว่า 34 ชนิด ทั้งพืชตระกูลข้าว พืชตระกูลถั่ว ไม้ผลและพืชผักต่าง ๆ โดยฝูงตั๊กแตนสามารถเข้าไปกัดกินและทำลายพืชในแปลงตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถกินอาหารได้ถึง 3 เท่าของน้ำหนักตัว ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรเป็นวงกว้าง รวมทั้งสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวดเร็ว เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งถ้าไม่เร่งกำจัดอาจเกิดการระบาดของตั๊กแตนเพิ่มขึ้น 100 เท่า ในปีถัดไปได้
ทั้งนี้ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยังกล่าวเพิ่มเติมสำหรับวิธีการป้องกันกำจัดตั๊กแตน ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกพืชอย่างสม่ำเสมอ กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก ไถพรวนและตากดินหลายครั้ง เพื่อกำจัดไข่ตั๊กแตน และใช้ตาข่ายหรือสวิงจับตั๊กแตนระยะตัวเต็มวัยเพื่อนำไปประกอบอาหาร ให้ใช้ชีวภัณฑ์ เช่น เมตาไรเซียม หรือบิวเวอเรีย ให้นำชีวภัณฑ์โรยบนดินหลังปลูกพืช เพื่อกำจัดไข่และตัวอ่อนตั๊กแตน หากพบการระบาดรุนแรงให้ใช้เหยื่อพิษโดยมีอัตราส่วน ดังนี้ น้ำ 1 ลิตร เกลือแกง 30 กรัม แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) 30 กรัม สารจับใบ 5 มิลลิลิตร และสารกำจัดแมลงคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50% SP 30 กรัม ผสมให้เข้ากัน แล้วนำกระดาษขนาด A4 ตัดเป็น 4 ส่วน แช่สารละลายเหยื่อพิษนาน 10 วินาทีผึ่งพอหมาด แล้วนำไปเสียบตามซอกต้นพืชสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร วางกับดักซ้ำทุก 3 วัน จนกว่าตัวเต็มวัยจะลดลง กรณีใช้การพ่นสารเคมี พ่นเฉพาะช่วงระยะตัวอ่อนเท่านั้น เช่น ไดฟลูเบนซูรอน 25%WP อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ลูเฟนนูรอน5%EC อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
แม้ตั๊กแตนจะส่งผลเสียต่อภาคการเกษตรได้มหาศาล แต่ในขณะเดียวกันข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2566 การเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าเพื่อการค้าก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก ใช้ต้นทุนต่ำ และได้รับผลตอบแทนสูง ทำให้ปัจจุบันมีการเลี้ยงกว่า 58 จังหวัดทั่วประเทศ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงตั๊กแตนประมาณ 20,000 ราย และมีปริมาณผลผลิตประมาณ 157,749 กิโลกรัม

ลุงแสง – พงพรรณ์ ค้าเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า ที่ผ่านการลองค้าคว้า ค้นหาอาชีพมานับไม่ถ้วน จนมาเจออาชีพใหม่ที่ใช้เวลาน้อย ได้ผลตอบแทนเร็ว โดยลุงแสงเล่าในรายการเกษตรสัญจรออนไลน์ว่า ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าเพียง 8X8 เมตร โดยการเลี้ยงแบบอินทรีย์ ให้กินหญ้าที่มีโปรตีนสูงเป็นอาหารหลัก เช่นหญ้าหวานอิสราเอส หญ้าฮาราฟัสบราซิล และหญ้าเนเปีย ใช้เวลาแค่ 35 – 45 วันก็สามารถจับขายได้ทั้งไข่และตัวสด ซึ่งปัจจุบันราคาไข่ตั๊กแตนปาทังก้าจำหน่ายได้ที่กิโลกรัมละประมาณ 10,000 บาท และตัวสดจำหน่ายที่กิโลกรัมละประมาณ 500 บาท
อย่างไรก็ตามแม้ตั๊กแตนปาทังก้าจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นภัยต่อภาคการเกษตร ฉะนั้นผู้เลี้ยงตั๊กแตนทุกราย จะต้องหมั่นสำรวจกรงเลี้ยงหรือโรงเรือน ดูแลรักษาและตรวจสอบรอยรั่วของมุ้งตาข่ายอย่างสม่ำเสมอ และควรปิดประตูกรงเลี้ยงหรือโรงเรือนให้มิดชิด เพื่อไม่ก่อให้เกิดการระบาดหนักซ้ำอย่างที่เคยเป็นมาในปี 2525 -2530 พร้อมเน้นย้ำอีกครั้งว่า #ไม่ควรปล่อยตั๊กแตนออกสู่ธรรมชาติ
ที่มา :
กรมส่งเสริมการเกษตร , รายการเกษตรสัญจร ออนไลน์